เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบในทุกๆด้าน วันนี้จะมาแบ่งปันข้อมูลดีๆ และพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคโควิด 19 (COVID-19) ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรง พร้อมทั้งวิธีการรับมือ การเตรียมตัว ไปจนถึงการดูแลตัวเองเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือในพื้นที่สาธารณะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 (COVID-19) ให้ได้รู้จักกันมากขึ้น
จากรายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้ระบุถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวโลกว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาตังแต่ปลายปี 2562 ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกเติบโตลดลง และลดลงต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ทุกประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ต่างใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยธุรกิจการบินและธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบในลำดับต้นๆ จนทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างดำเนินมาตรการทุกด้าน โดยเฉพาะมาตรการล๊อคดาวน์บางพื้นที่ และการระงับจ้างงานเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
โควิด-19 คืออะไร?
โรคโควิด 19 (COVID-19) คือโรคติดต่อซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาชนิดที่มีการค้นพบล่าสุด ไวรัสและโรคอุบัติใหม่นี้ไม่เป็นที่รู้จักเลยก่อนที่จะมีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในเดือนธันวาคมปี 2019
ขณะนี้โรคโควิด19 มีการระบาดใหญ่ไปทั่ว ส่งผลกระทบแก่หลายประเทศทั่วโลก
ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นไวรัสที่ถูกพบครั้งแรกในปี 1960 แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจนว่ามาจากที่ใด แต่เป็นไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดหนักทั่วโลกตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน คือ สายพันธุ์ที่ 7 จึงถูกเรียกว่าเป็น “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” และในภายหลังถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า โควิด-19 (COVID-19) นั่นเอง
โรคโควิด19 นี้ โดยหลักแล้ว แพร่จากคนสู่คนผ่านทางฝอยละอองจากจมูกหรือปากซึ่งขับออกมาเมื่อผู้ป่วย ไอหรือจาม เรารับเชื้อได้จากการหายใจเอาฝอยละอองเข้าไปจากผู้ป่วย หรือจากการเอามือไปจับพื้นผิวที่มี
ฝอยละอองเหล่านั้นแล้วมาจับตามใบหน้า ระยะเวลานับจากการติดเชื้อและการแสดงอาการ (ระยะฟักตัว) มีตั้งแต่1-14 วัน และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 วัน เกิน 97% ของผู้ป่วยเริ่มมีอาการภายใน 14 วัน
อาการเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19
อาการของไวรัสโควิด-19 ที่สังเกตได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้
- มีไข้
- เจ็บคอ
- ไอแห้งๆ
- น้ำมูกไหล
- หายใจเหนื่อยหอบ
กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 (COVID-19)
- เด็กเล็ก (แต่อาจไม่พบอาการรุนแรงเท่าผู้สูงอายุ)
- ผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่นโรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง
- คนที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือกินยากดภูมิต้านทานโรคอยู่
- คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก (คนอ้วนมาก)
- ผู้ที่เดินทางไปในประเทศเสี่ยงติดเชื้อ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อิตาลี อิหร่าน ฯลฯ
- ผู้ที่ต้องทำงาน หรือรักษาผู้ป่วย ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
- ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ลูกเรือสายการบินต่าง ๆ เป็นต้น
หากมีอาการติดเชื้อโควิด 19 ควรทำอย่างไร ?
หากมีอาการของโรคที่เกิดขึ้นตาม 5 ข้อดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด และเมื่อแพทย์ซักถามควรตอบตามความเป็นจริง ไม่ปิดบัง ไม่บิดเบือนข้อมูลใดๆ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องมากที่สุด หากเพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ควรกักตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปข้างนอกเป็นเวลา 14-27 วัน เพื่อให้ผ่านช่วงเชื้อฟักตัว (ให้แน่ใจจริง ๆ ว่าไม่ติดเชื้อ) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดสู้ผู้อื่นในที่สาธารณะอีกด้วย
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการ ไอ จาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ เหนื่อยหอบ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หรือที่มีคนพลุกพล่าน หน้ากากอนามัยจะต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดอยู่เสมอ
- ระมัดระวังการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด รวมถึงสิ่งที่มีคนจับอยู่บ่อยครั้ง เช่น ที่จับบน รถประจำทาง รถสาธารณะ ที่เปิด-ปิดประตูในรถ BTS, MRT, Airport Link กลอนประตูต่าง ๆ ก๊อกน้ำ ราวบันได ลิฟท์ ฯลฯ เมื่อจับแล้วอย่าเอามือสัมผัสบนใบหน้า หรือข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋า ฯลฯ
- ล้างมือให้สม่ำเสมอด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างน้อย 20 วินาที ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% (ไม่ผสมน้ำ)
- งดจับตา จมูก ปากขณะที่ไม่ได้ล้างมือ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดสัมผัสสัตว์ต่าง ๆ โดยที่ไม่มีการป้องกัน
- รับประทานอาหารสุก สะอาด ไม่ทานอาหารที่ทำจากสัตว์หายาก
- สำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยตรง ควรใส่หน้ากากอนามัย หรือใส่แว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันเชื้อในละอองฝอยจากเสมหะหรือสารคัดหลั่งเข้าตา
- หากต้องเข้าไปใช้บริการตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ควรตรวจวัดไข้และลงทะเบียน ตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด
การดูแลตัวเองจากโรค โควิด-19 (COVID-19)
- หากรู้สึกไม่สบาย คุณควรพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ กักตัวเองในห้องแยกจากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ และใช้ห้องน้ำแยก หากเป็นไปได้ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวที่สัมผัสเป็นประจำ
- เมื่ออยู่ที่บ้าน ทุกคนควรทำกิจวัตรประจำวันที่ดีต่อสุขภาพ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และติดต่อคนที่รักผ่านโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต เด็กๆ ต้องการความรักและการเอาใจใส่เป็นพิเศษจากผู้ใหญ่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และโปรดใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงรักษาตารางเวลาตามปกติเท่าที่จะทำได้
- ความรู้สึกเศร้า ตึงเครียด หรือสับสนเป็นเรื่องปกติในช่วงวิกฤต การพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ เช่น เพื่อนหรือครอบครัวช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่หากรู้สึกเป็นกังวลมาก โปรดติดต่อพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์หรือนักจิตวิทยาการปรึกษา
ขั้นตอนการกักตัว 14 วัน ควรทำอย่างไรบ้าง?
- อยู่ที่บ้าน รายงานตัวเป็นประจำ และจำกัดคนเยี่ยม
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย
- ปิดฝาชักโครกทุกครั้งที่กดล้างทำความสะอาด
- ไอและจามใส่กระดาศทิชชู่ และควรนำทิชชู่แยกทิ้งอย่างถูกต้อง
- ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลล้างมือทุกครั้งทันทีที่ทิ้งทิชชู่
- เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท
- งดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และแยกของใช้ส่วนตัว
- ล้างจานด้วยน้ำยาล้างจานก่อนใช้เสมอ
- ยืนห่างจากผู้อื่น 2 เมตร
- หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน ไม่ควรใช้ขนส่งสาธารณะทุกประเภท
หากต้องเดินทางข้ามจังหวัดควรทำอย่างไรบ้าง?
การเดินทาง 5 จังหวัด สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ต้องปฎิบัติดังนี้เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) นั่นเอง
- ตรวจวัดอุณหภูมิ สังเกตอาการ
- ตรวจแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” แนะนำขอความร่วมมือใช้งาน
- ขอทราบเหตุผลความจำเป็นการเดินทาง (แสดงเอกสารรับรอง)
การขอเอกสารรับรองความจำเป็นเพื่อเดินทางเข้า-ออก พื้นที่ 5 จังหวัด
- บุคคลทั่วไป ขอเอกสารรับรองได้ที่ ฝ่ายปกครอง (นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต/กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/ปลัดองค์กรส่วนท้องถิ่น) และหัวหน้าสถานีตำรวจทุกแห่ง
- ข้าราชการ ขอเอกสารรับรองได้ที่หัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัด
- สถานประกอบการ/หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ที่ต้องมีการขนส่ง/เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด ให้เจ้าของสถานประกอบการ/หัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดออกหนังสือรับรองได้
- บุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัดเป็นประจำ สามารถออกเอกสารรับรองเป็นห้วงเวลาติดต่อกันได้
- บุคคลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดอื่น แต่จะเดินทางเข้าพื้นที่ 5 จังหวัด ต้องขอเอกสารรับรองจากภูมิลำเนาหรือต้นสังกัด เพื่อใช้แสดงในการเข้าและออก(ไปและกลับ)ด้วยแบบฟอร์มการขออนุญาตสามารถ ดาวน์โหลด ได้ที่ WWW.moicovid.com